URBAN & TOWN PLANNING

We are committed to offering excellent engineering and consulting services through innovative solutions to satisfy the clients’ needs.

Features

Explore Our Latest Work

การวางและจัดทำผังเมืองรวมเมืองตาคลี จังหวัดนครสวรรค์

ยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) ได้กำหนดบทบาทสำคัญของจังหวัดนครสวรรค์ในการเป็นศูนย์กลางผลิตและค้าข้าว และการเป็นศูนย์กลางขนส่งสินค้าพืชผลเกษตรและการส่งออกแบบเบ็ดเสร็จทั้งระบบราง ถนน และการขนส่งทางน้ำ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาน้ำทั้งระบบ สนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดความเสี่ยงจากอุทกภัยและภัยแล้ง

จังหวัดนครสวรรค์เป็นจังหวัดที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ในด้านสินค้าเกษตรที่ปลอดภัย การผลิตและการแปรรูป โดยอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ได้ถูกกำหนดโดยนโยบายของรัฐให้เป็นพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมชีวภาพ จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงผังเมืองรวมเมืองตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ให้สอดคล้องเหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

การวางและจัดทำผังเมืองรวมเมืองนครสวรรค์

ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดนครสวรรค์ปี พ.ศ. 2564 มีเป้าหมายการพัฒนา คือ มุ่งเน้นการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ยกระดับเกษตรสู่เกษตรอินทรีย์และเชื่อมโยงสู่อุตสาหกรรมฐานชีวภาพ วางระบบขนส่งและศูนย์กลางการกระจายสินค้า นอกจากนี้ ส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ อนุรักษ์พลังงานและพัฒนาให้มีการใช้พลังงานทดแทน รวมถึงมีระบบป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอย่างมีประสิทธิภาพ มีความพร้อมที่จะส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพ และขีดความสามารถด้านโลจิสติกส์เพื่อเชื่อมโยงและกระจายสินค้าทั่วประเทศได้

จังหวัดนครสวรรค์ มีแนวโน้มการพัฒนาและขยายตัวทางเศรษฐกิจและมีการพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็ว การเติบโตดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนเมือง ดังนั้น เพื่อให้ก้าวทันกับทิศทางพัฒนาประเทศในอนาคต  จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงผังเมืองรวมเมืองนครสวรรค์ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

การวางและจัดทำผังเมืองรวมเมืองนครสวรรค์ เทศบาลนครนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์

การวางและจัดทำผังเมืองรวม ตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ.2562 เป็นมาตรการที่ใช้เป็นแนวทางการพัฒนาเมืองให้มีหรือทำให้ดียิ่งขึ้น ด้วยกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมเมืองนครสวรรค์ พ.ศ. 2554 ได้บังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554 มาจนในปัจจุบัน นับเป็นระยะเวลานานกว่า 10 ปีแล้ว แม้จะมีการแก้ไข 1 ครั้ง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 แต่เนื่องจากสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมของเมืองนครสวรรค์ มีการเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ

เทศบาลนครนครสวรรค์มีความประสงค์ดำเนินการแก้ไขผังเมืองรวมเมืองนครสวรรค์ ให้เหมาะสมกับสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และเพื่อประโยชน์สาธารณะ ให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด โดยวิธีดำเนินการเฉพาะบริเวณจำนวนหลายบริเวณ ที่มีขอบเขตครอบคลุมเฉพาะภายในพื้นที่ในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์ ตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562

การวาง/ปรับปรุงผังเมืองรวมสมุทรปราการ (ปรับปรุงครั้งที่ 3)

จังหวัดสมุทรปราการ เป็นหนึ่งในจังหวัดภาคกลางและปริมณฑลของกรุงเทพมหานครที่รองรับการขยายตัวจากกรุงเทพมหานคร ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การค้าและบริการ การขนส่งและโลจิสติกส์ ทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ ดังนั้น การพัฒนาพื้นที่ด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน โครงข่ายคมนาคมขนส่ง และระบบโครงสร้างพื้นฐานให้เพียงพอต่อการขยายตัวของเมืองสมุทรปราการจึงมีความจำเป็นต้องมีมาตรการทางผังเมืองเป็นเครื่องมือในการควบคุมและส่งเสริมการพัฒนาของเมือง การใช้ประโยชน์ที่ดิน การคมนาคมขนส่ง การสาธารณูปโภค สาธารณูปการ การบริการสาธารณะและสิ่งแวดล้อมต่างๆ

โครงการฯ มีเป้าหมายเพื่อดำเนินการวาง / ปรับปรุงผังเมืองรวมสมุทรปราการ (ปรับปรุงครั้งที่ 3) ให้ครอบคลุมพื้นที่เขตวางผังเมืองรวมสมุทรปราการ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชน และเป็นไปตามหลักวิชาการผังเมือง โดยสามารถกำหนดทิศทางและรูปแบบการพัฒนาเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วนของจังหวัดสมุทรปราการ

การวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4)

กรุงเทพมหานครเป็น “มหานคร” ที่เป็นศูนย์กลางการบริหารปกครองและศูนย์กลางความเจริญทุกด้าน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การค้าและการบริการ การท่องเที่ยว ศูนย์กลางทางการเงิน การขนส่งและโลจิสติกส์ และเป็นแหล่งงานที่สำคัญของประเทศ ด้วยความเป็นศูนย์กลางดังกล่าว กรุงเทพมหานครจึงเป็นเมืองที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การก่อสร้างโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของภาครัฐและเอกชน และการขยายตัวของประชากร ขณะเดียวกันยังคงต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ของเมือง เช่น ปัญหาการจราจร มลพิษทางอากาศ น้ำเสีย และภัยพิบัติต่าง ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ เกิดความไม่สมดุลระหว่างพื้นที่พัฒนาเมืองและพื้นที่เกษตรกรรม ตลอดจนปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคมและคุณภาพชีวิต หากไม่มีการวางแผนรองรับอย่างมีประสิทธิภาพจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและพื้นที่ใกล้เคียง

การวางและจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดนครราชสีมา

จังหวัดนครราชสีมา เป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 และมีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ เป็นประตูหน้าด่านในการเดินทางสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม เป็นอันดับที่ 9 ของประเทศ เศรษฐกิจหลักของจังหวัดอยู่ในภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม  การค้าส่งค้าปลีก การท่องเที่ยวและการบริการ ด้วยจุดเด่นทางด้านภูมิศาสตร์ของจังหวัด และนโยบายการพัฒนาระบบการคมนาคมและขนส่งของประเทศ รวมทั้งการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทำให้จังหวัดนครราชสีมามีความพร้อมที่เอื้อต่อการลงทุน ทำให้แนวโน้มการพัฒนาพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงต้องดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดนครราชสีมาให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาดังกล่าว เพื่อให้เป็นผังแม่บททางกายภาพชี้นำการพัฒนาพื้นที่ของจังหวัด

การวางและจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดเชียงใหม่

จังหวัดเชียงใหม่มีการพัฒนาและเจริญเติบโตของเมือง และมีการขยายตัวด้านการใช้ที่ดินขึ้นอย่างรวดเร็วจำเป็นต้องมีผังแม่บททางกายภาพชี้นำการพัฒนาในทุกด้านอย่างบูรณาการ และสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเสริมสร้างสังคมให้เข้มแข็งของเชียงใหม่ เพื่อดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดให้ครอบคลุมพื้นที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อกำหนดบทบาทและรูปแบบโดยภาพรวม ตลอดจนแนวทางการพัฒนาจังหวัดอย่างชัดเจน ถูกต้อง เหมาะสม

โครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดเชียงใหม่ มีเป้าหมายเพื่อให้เป็นผังแม่บททางกายภาพชี้นำการพัฒนาพื้นที่ของจังหวัด การใช้ประโยชน์ที่ดิน การคมนาคม ขนส่ง สาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ในระดับจังหวัด อำเภอ เมือง และชุมชน ได้อย่างบูรณาการ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเสริมสร้างสังคมให้เข้มแข็งต่อไป

© 2023 URBAN & TOWN PLANNING Dept. Chotichinda Consultants Co., Ltd.